ช่วงนี้มีคำถามจากลูกค้าเข้ามาบ่อย ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาหลังคา สถาปนิก วิศวกร รวมถึงเจ้าของโครงการ เกี่ยวกับการเลือกซื้อหลังคาเหล็ก ว่าจะใช้ลอนไหนดี รุ่นนี้กับรุ่นนั้น ต่างกันยังไง ใช้แทนกันได้ไหม ติดตั้งยังไง เสียงดังไหม เป็นต้น ก็เลยถือโอกาสรวบรวมมาตอบในคราวเดียว แล้วก็เล่าสู่กันฟังไปด้วยนะครับ
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจกันก่อนว่า หลังคาเหล็ก หรือที่เรียกกันคุ้นหูติดปากว่า เมทัลชีท (Metal sheet) ในท้องตลาดมีมากมายหลายเกรดเลยทีเดียว แบ่งกันตามความหนาเหล็กและชั้นเคลือบ แต่ว่าสำหรับการเลือกใช้ในงานโครงการ หรืองานออกแบบ ที่เป็นงานคุณภาพสูงจำเป็นต้องมีเรื่องอื่นมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วยนะครับ ก็จะแจกแจงให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
Tips
1. ความหนาเหล็กก่อนเคลือบ (Base metal thickness, BMT)
โดยมาตรฐานโครงการจะเลือกใช้ความหนาไม่ต่ำกว่า 0.42 มม.BMT ในบางงานที่เป็นลักษณะเฉพาะ เช่น งานโรงไฟฟ้า Powerplant มีมาตรฐานสูง จะใช้ความหนาไปถึง 0.60 มม. เลยทีเดียว
2. ชั้นเคลือบ ป้องกันสนิมบนผิวเหล็ก
โดยมาตรฐานโครงการจะเลือกใช้ชั้นเคลือบสังกะสีผสมอลูมิเนียม เคลือบผิวบนและล่างรวมกัน ไม่ต่ำกว่า 150 กรัม/ตร.ม. (AZ150) ซึ่งมีผลต่ออายุการใช้งาน หรือการรับประกันนั่นเอง ซึ่งผู้ผลิตจะให้สูงสุดถึง 20 ปี แต่ถ้านำไปอบเคลือบสี การรับประกันจะเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดถึง 30 ปี ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของผู้ผลิต (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
3. กำลังวัสดุเหล็ก (Strength of steel)
ซึ่งโดยปกติจะใช้ค่ากำลังวัสดุเหล็กรีดเย็น 550 MPa min.yield strength หรือประมาณ 5,600 กก/ตร.ซม (G550) แต่ในบางงานจะพบค่า G300 แต่ไม่มากนัก
4. รูปลอนหลังคาเหล็ก (Roof profile) หลังคาที่ดีมีคุณภาพ จะต้อง
a. แข็งแรงไม่แตกหักเสียหาย เมื่อมีการทำงานบนหลังคา (walking on roofs) และไม่ปลิว เมื่อมีแรงลมมาปะทะ (wind resistance)
b. ระบายน้ำได้ดี ไม่เกิดการรั่วซึมเข้าในอาคาร (roof drainage and leakage protection) เพราะการออกแบบงานโครงการ มักจะนิยมใช้ความลาดเอียงต่ำกว่า 5 องศานั่นเอง
c. ดัดโค้งได้ดี (roof curve) เพราะรูปทรงที่ออกแบบ มักจะนิยมทรงโค้ง และมีเอกลักษณ์สวยงาม
d. ในกรณีแผ่นหลังคายาวมากๆ ก็ต้องคำนึงถึง Thermal expansion (การขยายตัวของแผ่นเนื่องจากความร้อน) ในส่วนของการลดเสียงและความร้อน ก็ต้องใช้วัสดุอื่นร่วมด้วย เช่น ฉนวนกันความร้อน ฝ้าเพดาน เป็นต้น
5. มาตรฐานสินค้า (Code and performance tests)
ทั้งวัตถุดิบและรูปลอน เป็นการบ่งบอกถึงคุณภาพสินค้าด้วยมาตรฐาน และการทดสอบ ซึ่งควรจะมีทั้งของไทย และต่างประเทศ ถ้าเป็นของไทยก็จะอ้างอิงมาตรฐาน มอก. แต่ถ้าต่างประเทศ ก็จะมีทั้งมาตรฐานออสเตรเลีย AS, มาตรฐานญี่ปุ่น JIS หรือมาตรฐานอเมริกา ยุโรป เป็นต้น
บทสรุป
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่เล่าสู่กันฟังนี้ จะช่วยให้การเลือกใช้หลังคาเหล็ก เป็นไปได้อย่างถูกต้องและง่ายขึ้น