การที่เราจะได้หลังคาเมทัลชีทที่มีคุณภาพ หมดปัญหาให้กังวลใจ จำเป็นที่จะต้องรู้ ก่อนเลือกซื้อหลังคาเมทัลชีท เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพ ในราคาที่คุ้มค่า เพราะของดีราคาถูกนั้น หายากเหลือเกิน มีแต่ของดีราคาคุ้มค่า สมเหตุสมผล หรือที่เรียกว่า สมราคา นั่นเองล่ะครับ
ในท้องตลาดมีแผ่นหลังคาเหล็กเมทัลชีทมากมายหลายเกรดเลยทีเดียว มีทั้งแผ่นบางแผ่นหนา เคลือบกันสนิมก็มีหลายแบบ และมีตั้งแต่ราคาถูกจนถึงราคาแพง คุณภาพที่ต่างกันมีผลทำให้ราคาหลังคาเมทัลชีทแตกต่างกันนั่นเอง
ฉบับนี้ เค เอส กรุ๊ป ขอแนะนำเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับงานหลังคาเมทัลชีท เพื่อเราจะได้ของดีมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงกับปัญหากวนใจที่จะเกิดขึ้นในภายหลังนั่นเอง นั่นก็คือ
เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับงานหลังคาเมทัลชีท
- ต้องรู้รุ่นลอนของหลังคาเมทัลชีท (Roofing profile) จะได้หน้าตาที่สวยตรงใจตามสไตล์เรา
- ต้องรู้คุณสมบัติหลังคาเมทัลชีท และระบบยึดแผ่น (Roofing system performance) บ่งบอกถึงความสามารถและความแข็งแรงของระบบหลังคา ทำให้ไม่เกิดปัญหา แผ่นรั่ว แผ่นร้าว หรือแผ่นปลิว
- ต้องรู้คุณภาพหลังคาเมทัลชีทและอุปกรณ์ (Product quality) ทำให้เรามั่นใจว่าได้สินค้าที่มีคุณสมบัติ ตรงตามที่สเปคที่ระบุไว้
- ต้องรู้คุณภาพงานติดตั้ง (Installation service)เพื่อให้ได้งานสวย เรียบร้อย ตรงใจ
- ต้องรู้คุณภาพวัตถุดิบและสารเคลือบกันสนิม (Raw material) ซึ่งจะมีผลกับการรับประกันสินค้า และอายุการใช้งาน
ต่อไปจะมาลงรายละเอียดในแต่ละหัวข้อกันนะครับ
1. รุ่นลอนของหลังคาเมทัลชีท (Roofing profile)
ปัจจุบันมีรูปลอนหลายแบบ หลายสไตล์ ให้เลือกสรร เลือกตามสไตล์ที่เราชอบเลยครับ ไม่ว่าจะสไตล์เรียบหรูโมเดิร์น สไตล์นอร์ดิกที่ให้ความทันสมัยผสมผสานความย้อนยุค สไตล์มินิมอลที่โดดเด่นเรียบง่าย หรือสไตล์อื่นๆ สวยงามแบบซ่อนสกรู สร้าง Mood & Tone ที่มีเอกลักษณ์ ตอบโจทย์งานดีไซน์
2. ต้องรู้คุณสมบัติหลังคาเมทัลชีท และระบบยึดแผ่น (Roofing system performance)
บอกถึงความสามารถและความแข็งแรงของแผ่นหลังคา ในด้านต่างๆ ส่งผลโดยตรงเพื่อให้ได้หลังคาที่แข็งแรงไม่แตกหัก ไม่รั่ว ไม่ร้าว นั่นก็คือ
- ไม่แตกหัก (รับน้ำหนักช่างและการเดินบนหลังคาได้ดี) ซึ่งระยะพาดแปที่เหมาะสม จะขึ้นอยู่กับรูปลอน และความหนาของแผ่นเหล็ก ซึ่งค่าระยะแปนี้จะมาจากการคำนวณ และทดสอบ โดยทั่วไปนิยมใช้ ที่ระยะ 1.50 เมตร แต่งานโครงการบางงาน พาดไปถึง 2 - 3 เมตรก็มี
- ป้องกันลม (แผ่นไม่ปลิว) ซึ่งค่าการรับแรงลม จะต้องมาจากการทดสอบทางวิศวกรรม และต้องมีใบรับรองผลด้วยนะครับ
- ป้องกันฝน (แผ่นไม่รั่ว) เพราะแผ่นสามารถระบายน้ำได้ดี ทำให้น้ำฝนไม่รั่วซึมลงสู่อาคาร
- ด้านอื่นๆ เช่น การดัดโค้งได้ดี สามารถทำมุมลาดเอียงหลังคาได้ต่ำ และรีดแผ่นยาวต่อเนื่องโดยไม่ต่อแผ่น (ขึ้นอยู่กับระบบการยึดแผ่น) ทำให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย
3. ต้องรู้คุณภาพหลังคาเมทัลชีทและอุปกรณ์ (Product quality)
ทำให้เรามั่นใจว่าได้สินค้าที่มีคุณสมบัติตรงตามสเปคที่ระบุไว้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบสินค้าก่อนออกจากโรงงานผลิต โดยลูกค้าสังเกตได้จาก ใบ QC Pass หรือ ใบตรวจสอบสินค้า นั่นเอง ซึ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพความสม่ำเสมอของรูปลอนและอุปกรณ์ ในทุกๆ มิติ ทั้งความลึก หน้ากว้าง ความหนา รอยโค้งหยัก เป็นต้น รวมถึงความเรียบร้อยในการแพ็คกิ้งสินค้า และการบริการขนส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ สำหรับลูกค้าเอง เพื่อตรวจสอบสินค้า หากเกิดปัญหาในภายหลัง
4. คุณภาพงานติดตั้ง (Installation service งาน)
เพื่อให้ได้สวยตรงใจ ดังนั้นจึงควรมอง ตรงหาช่างติดตั้งที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะถึงแม้ว่าจะได้แผ่นหลังคาที่ดีมีคุณภาพ แต่ถ้าติดตั้งไม่ดี จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบแผ่นหลังคาลดลง ทำให้หลังคาเสียหายและเกิดปัญหาภายหลังได้ เช่น แผ่นปลิว แผ่นหลุดล็อค เป็นต้น
5. คุณภาพวัตถุดิบ แผ่นเหล็กเคลือบกันสนิม
จะมีผลกับการรับประกันสินค้า ความทนทานและอายุการใช้งาน ซึ่งมีสิ่งที่ต้องพิจารณาดังนี้
5.1 ค่ากำลังของวัสดุเหล็กรีดเย็น (High strength of steel) ในงานโครงการส่วนใหญ่ มักจะเลือกใช้ค่ากำลังวัสดุ G550 (550 MPa) ซึ่งเป็นค่ากำลังที่สูง อาจพบค่า G300 (300 MPa) บ้าง แต่ไม่มากนัก
5.2 ชั้นเคลือบป้องกันสนิม ซึ่งมีผลต่อการรับประกันวัสดุเหล็ก แสดงถึงการป้องกันสนิม ความคงทนและอายุการใช้งานที่ยาวนาน ดังนั้นลูกค้าควรสอบถามใบรับประกันจากผู้ผลิต
งานโครงการ จะระบุชั้นเคลือบอลูซิงค์/ซิงคาลูม ด้วยปริมาณการเคลือบ 150 กรัมต่อตร.ม. (AZ150) ซึ่งรับประกันวัสดุสูงสุดที่ 20 ปี ในกรณีที่เป็นเหล็กเคลือบสี ซึ่งเป็นการอบเคลือบสีคุณภาพสูง ลงบนเหล็กเคลือบอลูซิงค์/ซิงคาลูม ทำให้รับประกันวัสดุสูงสุดที่ 30 ปี
ทั้งนี้ สำหรับอาคารในกลุ่มระดับกลางถึงล่าง จะใช้ชั้นเคลือบกันสนิมที่บางกว่านี้ ก็คือ 70 - 100 กรัมต่อตร.ม. (AZ70 – AZ100) การรับประกันวัสดุก็จะลดลงมาเป็น 5 - 10 ปีตามลำดับ แต่ถ้าในงานที่ราคาถูกมาก จะใช้แค่ปริมาณชั้นเคลือบที่บางลงอีก คือ เคลือบต่ำกว่า 70 กรัมต่อตร.ม. ซึ่งแน่นอนว่า ราคาจึงถูกมาก การรับประกันอาจจะไม่มี
5.3`มาตรฐานวัตถุดิบ เดี๋ยวนี้มีเหล็กหลากหลายมาก ทั้งเหล็กนำเข้า และเหล็กในประเทศ ดังนั้นอย่าลืมดูว่าเหล็กรีดเย็น ได้มอก.หรือไม่ ถ้าเป็นเหล็กเคลือบซิงคาลูม จะอ้างอิงมาตรฐานมอก. 2228 และสำหรับเหล็กเคลือบสี จะอ้างอิง มอก 2753 แต่ถ้าในงานโครงการ จะอ้างอิงมาตรฐานต่างประเทศด้วย อย่างเช่น มาตรฐานออสเตรเลีย AS1397, มาตรฐานญี่ปุ่น JIS3312, มาตรฐานยุโรป หรือ มาตรฐานอเมริกา เป็นต้น
5.4 ความหนาแผ่น อย่างที่เคยกล่าวไว้ในบทความแรกๆ แผ่นเหล็กเปลือย ที่ใช้ส่วนใหญ่กับงานหลังคา จะมีความหนา 0.3 - 0.7 มม. (Base metal thickness, BMT) แต่โดยมาตรฐานงานโครงการ จะระบุสเปคที่ความหนาเหล็กเปลือย 0.42 มม. (BMT) ถ้านำไปเคลือบสารป้องกันสนิม ความหนาเหล็กรวมเคลือบอลูซิงค์/ซิงคาลูม (AZ150) จะเป็น 0.47 มม.(Total coated thickness, TCT) และถ้านำไปอบเคลือบสี ความหนารวมเคลือบสีจะเป็น 0.50 มม.(TCT)
ดังนั้นต้องระบุความหนารวมเคลือบให้ถูกต้องนะครับ ต่างกันเพียงนิด ความแข็งแรงต่างกัน แต่ในตลาดระดับกลางถึงล่าง มักจะใช้เหล็กที่มีความหนาและชั้นเคลือบที่บาง เพราะเน้นราคาถูก
บทสรุป
หลักๆ ให้พิจารณาเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับงานหลังคาเมทัลชีท 5 ข้อก่อนเลือกซื้อ เพื่อว่าลูกค้าจะได้หลังคาเมทัลชีทดี มีคุณภาพสูง ในราคาเหมาะสม เพื่อบ้านและอาคารของเราจะได้อายุใช้งานทนนานนานนับหลายสิบปี เป็นแผ่นหลังคาที่แข็งแรงทนแดด ทนฝน กันลม ไม่รั่ว ไม่ร้าว มีความปลอดภัยทางวิศวกรรม และมีความสวยงาม
ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบตามที่แนะนำ และสอบถามจากโรงงานผู้ผลิตก่อนเลือกซื้อนะครับ